วันพุธที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ไผ่...นับเป็นทรัพยากรป่าไม้ที่จัดอยู่ในประเภท “ของป่า” ซึ่งทุกคนรู้จักดี เนื่องจากในชีวิตประจำวันของคนเรานั้นได้รับประโยชน์จากไม้ไผ่อย่างมากมายทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งนี้เพราะทุกส่วนของไม้ไผ่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นราก ลำต้น ใบหรือหน่อก็ตาม การใช้ประโยชน์อาจนำไปใช้ในการก่อสร้างที่อยู่อาศัย ทำภาชนะต่างๆ ใช้ในครัวเรือน เครื่องจักสาน เฟอร์นิเจอร์ กระดาษ และหน่อก็ยังสามารถนำมาใช้บริโภคได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วเรามักจะรู้จักไม้ไผ่ในรูปของการใช้ประโยชน์จากลำต้นเสียเป็นส่วนมาก นอกจากนี้ประโยชน์ทางอ้อมของไม้ไผ่ก็คือ ช่วยป้องกันการพังทลายของดินตามบริเวณชายฝั่งแม่น้ำลำคลอง สามารถบรรเทาอุทกภัยและวาตภัยอันเกิดจากกระแสน้ำและกระแสลมได้เป็นอย่างดี จึงทำให้ชาวชนบทนิยมปลูกไม้ไผ่ไว้โดยทั่วไป ทั้งภายในบริเวณหมู่บ้าน และบริเวณหัวไร่ปลายนา
ปัจจุบัน ไม่ไผ่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้น ทั้งทางด้านการอุตสาหกรรมและการส่งออก กล่าวคือ ทางด้านอุตสาหกรรม ไม้ไผ่สามารถใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าชนิดต่างๆ ได้มากมายหลายชนิด อาทิเช่น กระดาษ ไหมเทียม และไม้ไผ่อัด เป็นต้น สำหรับไม้ไผ่อัดนั้นเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ที่ตลาดมีความต้องการสูง และมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากไม้ไผ่มีคุณสมบัติพิเศษแตกต่างไปจากไม้ชนิดอื่น คือ ไม้ไผ่เมื่อแห้งแล้ว การขยายตัวหรือหดตัวมีน้อยมาก จึงนิยมนำมาใช้ทำเป็นไม้แบบในงานก่อสร้าง สามารถใช้ได้มากครั้งกว่าไม้แบบที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน หรือนำมาใช้เป็นวัสดุสำหรับการตกแต่งอาคารบ้านเรือน เนื่องจากไม้ไผ่มีลวดลายของเนื้อไม้สวยงามแตกต่างไปจากไม้ชนิดอื่นนั่นเอง
ทางด้านการส่งออก ผลิตภัณฑ์ไม้ไผ่ในแต่ละปีสามารถส่งออกเป็นมูลค่าจำนวนหลายร้อยล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มตลอดเวลา ซึ่งการส่งออกนั้นมีลักษณะแตกต่างกันไป ทั้งที่ยังไม่แปรรูปและแปรรูปแล้ว กล่าวคือ มีการส่งออกทั้งลักษณะที่เป็นลำไม้ไผ่ ผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ เช่น ไม้ไผ่อัด เครื่องจักสาน และหน่อไม้อัดปี๊บ เป็นต้น
ปัจจุบันมีการตัดฟันไม้ไผ่ธรรมชาติมาใช้ประโยชน์กันอย่างมากมาย แต่เป็นไปอย่างไม่ถูกต้อง ทำให้ป่าไม้ไผ่ธรรมชาติเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว โดยสามารถให้ผลผลิตเป็นลำไผ่สดประมาณตันเศษต่อไรเท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ปกติที่ควรจะได้ประมาณ 3 ตัน ต่อไร่ และถ้ามีการบำรุงรักษาเพียงเล็กน้อยผลผลิตจะได้ตามเกณฑ์ปกติไม่ยากนัก นอกจากนี้ไผ่ยังเป็นพืชที่โตเร็ว มีโรคและแมลงรบกวนน้อยมาก ประกอบกับในปัจจุบันพื้นที่ป่าไม้ของประเทศได้ลดลงอย่างรวดเร็ว มีผลให้ขาดแคลนไม้เพื่อใช้ในการก่อสร้าง แต่ด้วยเหตุที่ไผ่เป็นไม้ที่มีประโยชน์มากมายหลายประการอีกทั้งหน่อก็ยังสามารถใช้บริโภคได้ด้วย จึงทำให้ไผ่เป็นไม้ที่เหมาะกับสภาพป่าไม้ของประเทศและการปลูกสร้างสวนไผ่น่าจะเป็นอาชีพหนึ่งของเกษตรกรไทยในอนาคต จึงนับได้ว่า ไผ่เป็นไม้เศรษฐกิจที่ควรส่งเสริมเร่งรัดให้มีการปลูกกันให้มากที่สุด โดยให้ปลูกกันทั่วไปทุกหนทุกแห่งที่จะปลูกได้ เช่น ตามในเขตบริเวณบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ตามหัวไร่ปลายนา ตามริมฝั่งห้วย แม่น้ำลำคลอง หนองบึง และตามที่ว่างเปล่าทุกแห่ง เพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว และเพื่อเป็นการทดแทนป่าไม้และป่าไผ่ที่ถูกทำลายไปแล้วเป็นอันมาก

จากหนังสือการปลูกไม้ไผ่ โดยคุณสุทัศน์ เดชวิสิทธิ์